หุ้นเปลี่ยนเจ้าของ (ยืมซากคืนชีพ)..
ผู้เขียน
zaristotlez
เผยแพร่ :
24 กันยายน 2567
วันนี้ปรับปรุง :
24 กันยายน 2567

กลยืมซากคืนชีพมีหลายต่อหลายตอนในสงครามสามก๊ก

ไม่ว่าจะเป็นตอนที่โจโฉใช้ฮ่องเต้เป็นหุ่นเชิด เล่าปี่แอบอ้างว่าตัวเองเป็นเชื้อพระวงค์ (ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่) หรือแม้แต่การแอบอ้างราชโองการต่างๆ ที่ปลอมขึ้น หรืออีกหลายเหตุการณ์ซึ่งมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องโกหก

ในตลาดหุ้นนั้นเรามักจะเจอบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแล้วทำท่าว่าจะไปไม่รอดก็อาศัยกลยุทธ์นี้นี่แหละออกหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP หรือขายกิจการให้กลุ่มอื่นอย่างนี้เป็นต้น

ในบทนี้จะกล่าวถึงหุ้นที่มีการเปลี่ยนโครงสร้างของผู้บริหารที่เกี่ยวกับคนที่มีอำนาจหรือเป็นเบอร์หนึ่งในกิจการนั้นๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป หลากหลายวิธีที่เกิดขึ้นล้วนมีจุดประสงค์คล้ายกันคือ”ต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้ดีกว่าเดิม” ซึ่งเจ้าของเดิมอาจหมดไฟที่จะขับเคลื่อนหรือหมดปัญญาของตัวเองแล้วจึงจำเป็นจะต้องร่วมทุนร่วมมือกับผู้บริหารรายใหม่ที่มีไฟแรง มีกำลังทุนหนา มีคอนเน็คชั่นมากมาย และเป็นกลุ่มคนที่มีบารมีในสายงานนั้นๆ

​จากหลักการดังกล่าวข้างต้นเราจึงมักจะเห็นหุ้นที่มีผลงานค่อนข้างย่ำแย่หรืออาการทรงๆ หาผู้ร่วมทุนเพื่อนำพากิจการให้ดีขึ้น ลักษณะของการร่วมมือกันนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น

-การขายหุ้นในส่วนที่ตนเองถือครองเพื่อลดสัดส่วนลง

-การออกหุ้น PP

-การขายหุ้นแบบเปลี่ยนมือหรือที่เรียกว่าขายยกล็อตให้กับกลุ่มใหม่ (ขายกิจการ)

-การร่วมลงทุนในโครงการใหม่โดยผ่านบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวตามที่กล่าวมามักจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เพื่อสอดรับกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้บริหารใหม่

​การเปลี่ยนโครงสร้างของผู้บริหารใหม่เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความหวังใหม่

ด้วยเหตุนี้นี่เองการเก็งกำไรหุ้นจึงเกิดขึ้นจากความหวัง ความฝันว่าจะดีกว่าเดิม..

ลักษณะดังกล่าวจะแบ่งการเก็งกำไรเป็น 3 กรณี ดังนี้

​1.เก็งกำไรก่อนล่วงหน้ามาหลายเดือนจากนั้นก็ประการข่าวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองหุ้น

​2.เก็งกำไรทันทีหลังจากประกาศข่าวการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้น โดยเกิดการนำพา

ราคาหุ้นให้วิ่งสูงขึ้นต่อเนื่องไปหลายเดือน

​3.เก็งกำไรหลังจากข่าวการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้นได้ประกาศข่าวไปแล้วหลายเดือนเช่น หลังประกาศข่าวไปแล้วสองเดือนจึงค่อยมาเล่นเก็งกำไรอย่างนี้เป็นต้น

​ทั้งสามลักษณะจะเกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นช่วงไหนนั้นไม่เป็นรูปแบบที่แน่นอนแต่การเก็งกำไรนั้นมีแน่ไม่ช้าก็เร็ว

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองหุ้นก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเก็งกำไร

กลยุทธ์การซื้อหุ้นจะต้องตรวจสอบความถูกแพงของราคาหุ้นเสมอ เพื่อความปลอดภัยกับเงินลงทุน หากว่าราคาหุ้นแพงเกินไปแล้วก็ไม่ควรเข้าไปลงทุน แต่ถ้าหากว่าราคาหุ้นยังไม่แพงและกิจการเดิมก็ไม่ขี้เหร่ การพิจารณาลงทุนกับหุ้นตัวนั้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจแต่จะต้องกำหนดจุดขายหุ้นไว้ตั้งแต่ทีแรกในช่วงเข้าลงทุนซื้อหุ้น

หุ้นประเภทนี้บอกได้เลยว่าบทเวลาแรงก็แรงทั้งขึ้นทั้งลง บทเวลานิ่งก็นิ่งสนิท

​กลยุทธ์การขายหุ้นหากใครที่จะเล่นในแนวทางนี้ก็คือ หากถึงจุดขายที่ตนเองกำหนดไว้แล้วก็ต้องขาย อย่าเสียดายถือแช่ ไม่งั้นอาจติดหุ้นได้หากว่าหุ้นนั้นไม่ดีจริง

ขอให้โชคดี..